WELCOME

ยินดีต้อนรับสู่ท่องเที่ยวเมืองสองเล..."นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้"...

นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวเมืองสงขลา

วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

สถานที่ท่องเที่ยวเมืองสองเล

สถานที่ท่องเที่ยวเมืองสงขลา
เมืองสงขลาเป็นเมืองที่มีเสน่ห์มากๆ อย่างแรกเลยคือเป็น เมืองสองทะเล เพราะมีภูมิประเทศที่ถูกขนาบข้างด้วยทะเลทั้งสองด้าน ด้านขวาคือทะเลอ่าวไทย และด้านซ้ายคือทะเลสาบสงขลา”  เมืองแห่งนี้จึงให้อารมณ์ราวกับเมืองพักตากอากาศสบายๆ ผู้คนไม่เร่งรีบและเป็นมิตร อีกหนึ่งเสน่ห์ก็คือ ความเป็นเมืองเก่า  บรรยากาศคล้ายๆ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย หรือย่านเมืองเก่า จ.ภูเก็ต เพราะมีทั้งชาวไทย มุสลิม และจีนอาศัยอยู่ร่วมกัน เกิดการผสมกันของวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม สะท้อนผ่านตึกรามบ้านช่องที่สวยงาม ร่วมไปถึงอาหารการกินที่มีทั้งอาหารปักษ์ใต้แท้ อิสลาม และจีน  สำหรับผมเมืองสงขลาเป็นเมืองเก่าติดทะเล บรรยากาศสโลว์ไลฟ และสถานที่ท่องเที่ยวที่พวกเราจะมานำเสนอคือ สวนสองทะเล แหลมสมิหลา   เขาตังกวน เก้าเส้ง และย่านเมืองเก่งสงขลา ฯลฯ
  สวนสองทะเล

ภาพที่ 1 : ภาพบริเวณหัวพญานาค
สวนสองทะเล เป็นสวนสาธารณะอยู่ระหว่างท่าแพขนานยนต์สงขลาและศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ่งที่น่าสนใจในสวนสองทะเลคือเป็นจุดที่อยู่ระหว่างทะเลสาบสงขลาและทะเลฝั่งอ่าวไทย มีทิวทัศน์ที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีการสร้างส่วนเศียรหรือส่วนหัวของพญานาค เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองแก่เมืองสงขลาโดยนายอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีนครสงขลามีความคิดที่จะสร้างขึ้นจึงให้อาจารย์มนตรี สังข์มุสิกานนท์ อาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิน เป็นผู้ดำเนินการออกแบบ โดยแบ่งพญานาคออกเป็นสามส่วน สำหรับส่วนหัวซึ่งหมายถึง "สติปัญญาอันเป็นเลิศของชาวสงขลา" สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2549
สำหรับนาคหรือพญานาค เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดน้ำ ความยิ่งใหญ่แห่งน้ำ เป็นเทพเจ้าแห่งการให้น้ำ และความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพชีวิตทั้งปวง ชาวใต้มีความเชื่อว่า นาคหรือพญานาค จะพ่นโปรยน้ำทิพย์มาชโลมไล้ให้มนุษย์มีความสุขสดชื่น ชำระล้างมลทินทั้งกายและทางใจ ชาวภาคใต้นับถือนาคหรือพญานาค เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตนสืบไปส่วนหัวของพญานาคจะมีน้ำพ่นออกมาทุกวันเวลาประมาณ 8.00 น.ส่วนสะดือพญานาคอยู่บริเวณระหว่างแหลมสนอ่อนและหาดสมิหลา ส่วนหางพญานาคอยู่ที่หาดชลาทัศน์ รวมความยาว ประมาณ 4 กิโลเมตร
แหลมสมิหลา
           



ภาพที่ 2 : สัญลักษณ์ของแหลมสมิหลา
ถ้ามาถึงสงขลาแล้วไม่ได้เยือนหาดสมิหลาย่อมถือว่ามาไม่ถึง เพราะที่นี่คือไอคอนของเมืองสงขลาที่ทุกคนต้องมาแวะถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก หาดสมิหลาเป็นชายหาดที่มีโขดหินขนาดย่อมยื่นลงทะเล ทรายขาวละเอียดมากที่เรียกว่า "ทรายแก้ว" ร่มรื่นด้วยป่าสน และจากหาดสมิหลายังสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเกาะหนูเกาะแมว จนมีคำกล่าวว่าใครมาเยือนสงขลาแล้วไม่มาเยือนสมิหลาก็เหมือนมาไม่ถึงสงขลา อีกทั้งบริเวณหาดยังมีสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียง นั่นก็คือ รูปปั้นนางเงือกทอง ที่ทุกคนต้องแวะมาถ่ายภาพเก็บไว้ บรรยากาศโดยรอบของชายหาดเต็มไปด้วยความเงียบสงบ มีร้านอาหาร รีสอร์ต และร้านขายของที่ระลึกมากมาย รวมทั้งมีกิจกรรมทางน้ำเติมความสนุกให้นักท่องเที่ยว เช่น บานาน่าโบ๊ตเจ็ตสกี แล่นเรือใบ และชายหาดแห่งนี้ยังสามารถลงเล่นน้ำทะเลได้เนื่องจากเป็นชายหาดที่ไม่ลาดชัน และมียามรักษาการณ์จากเทศบาลเมืองสงขลาคอยดูแลความปลอดภัยตลอดทั้งวัน
เรื่องเล่าจาก นางเงือกทอง
ภาพที่ 3 : ภาพนางเงือกทอง
นางเงือกทอง เป็นนิยายปรัมปราของไทยโบราณ ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เป็นผู้เล่าไว้ว่า วันดีคืนดีนางเงือกจะมานั่งหวีผมบนชายหาดด้วยหวีทองคำ กระทั่งวันหนึ่ง มีชายชาวประมงเดินผ่านมา ทำให้นางเงือกตกใจรีบหนีลงทะเลโดยลืมหวีทองคำไว้ ชาวประมงเห็นดังนั้น ก็เก็บหวีทองคำไว้ และเฝ้าคอยนางเงือกที่หาดนั้นเสมอ แต่นางเงือกก็ไม่เคยปรากฏกายให้เห็นอีกเลย สำหรับรูปปั้น นางเงือกทอง” นี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 ในท่านั่งหวีผม หล่อขึ้นด้วยบรอนซ์รมดำ โดยฝีมือการออกแบบ ปั้น และหล่อ โดยอาจารย์จิตร บัวบุศย์ ด้วยเงิน 60,000 บาท (ในสมัยนั้น) โดยใช้เงินจากงบประมาณของเทศบาลสงขลา
ภาพที่ 4  : ภาพรูปปั้นเกาะหนู เกาะแมว
ตำนานเกาะหนูเกาะแมว
มีเรื่องเล่าว่า พ่อค้าชาวจีนผู้หนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายระหว่างจีนกับสงขลาเป็นประจำ วันหนึ่งพ่อค้าผู้นี้ได้ซื้อหมากับแมวลงเรือไปเมืองจีนด้วย หมากับแมวอยู่บนเรือนาน ๆ เกิดความเบื่อหน่ายจึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมากับแมวได้ทราบว่าพ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ทำให้ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายโดยให้หนูไปขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามา และหนูก็ขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ทั้งสามว่ายน้ำหนีลงจากเรือโดยที่หนูอมดวงแก้วไว้ในปาก ขณะนั้นหนูนึกขึ้นได้ว่าถ้าถึงฝั่ง หมากับแมวคงจะแย่งเอาดวงแก้วไป จึงคิดที่จะหนี ฝ่ายแมวซึ่งว่ายตามหลังมาก็คิดเช่นกัน จึงว่ายน้ำรี่ไปหาหนู หนูตกใจว่ายน้ำหนีไม่ทันระวังตัว ดวงแก้ววิเศษที่อมไว้จึงตกลงจมหายไปในน้ำ หนูและแมวต่างก็หมดแรงจมน้ำตาย กลายเป็นเกาะหนูเกาะแมวอยู่ที่อ่าวหน้าเมือง ส่วนหมาตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่งและสิ้นใจตายด้วยความเหน็ดเหนื่อย กลายเป็นหินบริเวณเขาตังกวนอยู่ริมอ่าวสงขลา ดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูก็แตกละเอียดกลายเป็นหาดทรายแก้วอยู่ทางด้านเหนือของแหลมสนนั่นเอง
ที่ตั้ง : อำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา สำหรับการเดินทางนั้น หาดสมิหลาอยู่ห่างจากตลาดสดเทศบาลเพียง 2.5 กม. กิโลเมตร การเดินทางสะดวกมีถนนเลียบชายหาดตลอดแนว และจากอำเภอหาดใหญ่สามารถใช้รถประจำทางสายหาดใหญ่-สงขลาได้ หากอยู่ในเมืองก็มีรถสองแถวไปชายหาด

 เขาตังกวน
ภาพที่ 5 : สถานีลิฟท์เขาตังกวน
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสงขลามีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 105 เมตร บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานโบราณสถานสำคัญ ประกอบด้วย พระเจดีย์หลวง พลับพลาที่ประทับ รัชกาลที่ 4 และประภาคาร พระเจดีย์หลวงบนยอดเขาตังกวน เป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง ไม่ปรากฏหลักฐานความเป็นมา จนปี พ.ศ.2402 รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสงขลา หลังจากนั้นในปี 2409 จึงได้โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่กว่าของเก่า ได้สร้างคฤหไว้ที่ฐานพระเจดีย์ และต่อเติมเก๋งที่มุมกำแพง และเมื่อ พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องสักการะบูชาประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์หลวง การขึ้นเขาตังกวน มีลิฟท์บริการ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาทเปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30-18.30 น.


 เจดีย์พระธาตุ

ภาพที่ 6 : ภาพเจดีย์พระธาตุ
พระเจดีย์หลวง พระเจดีย์หลวงเป็นอีกหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญของเขาตังกวน พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง สันนิษฐานว่าเป็น พระเจดีย์โบราณที่มีมานาน แต่ไม่ปรากฎหลักฐานความเป็นมาที่ชัดเจน จนต่อมาในปี พ.ศ.2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสงขลา หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2409 จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินหลวง 37 ชั่ง ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่กว่าของเก่า และในครั้งนั้น เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น)ได้ สร้างคฤห์ไว้ที่ฐานพระเจดีย์ และต่อเติมเก๋งที่มุมกำแพง พระเจดีย์หลวงเป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมือง ของสงขลาจึงมีการบูรณะซ่อม แซมมาโดยตลอด ในปีพ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน พระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องสักการะบูชาประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์หลวง เพื่อไว้เป็นที่สักการบูชาของชาวเมืองสงขลาสืบต่อไป


ประภาคาร

ภาพที่ 7 : ภาพประภาคาร
เป็นอาคารที่สำคัญอย่างหนึ่งของเขาตังกวนสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2439 ครั้งพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้ กรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับประกอบตัวโคมและส่งแบบฐานปูนให้ข้าหลวงออกมาจัดการก่อสร้างประภาคาร ตามพระราช ดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) และพระยาชลยุทธโยธินเป็นผู้ เลือกสถานที่ ประภาคารนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2440

ศาลาพระวิหารแดง

ภาพที่ 8 : ภาพศาลาพระวิหารแดง
จากลานพระเจดีย์หลวงมีทางเดินลงบันไดมายังศาลาพระวิหารแดง  ประวัติการก่อสร้างศาลาพระวิหารแดง พระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างพลับพลาที่ประทับนี้แต่ยังคงสร้างค้างอยู่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหารจนสำเร็จในเวลาต่อมา แล้วยังทรงพระราชดำริให้สร้างบันไดนาคขึ้นจาก พลับพลา สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2440 วิวสวยหน้าศาลาพระวิหารแดง พลับพลาที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หันหน้าพลับพลาไปด้านเชิงเขาด้านหนึ่งของเขาตังกวน เป็นบริเวณที่วิวเปิดเห็นทิวทัศน์ได้ไกล และสวยงามมากภายในศาลาพระวิหารแดง ลักษณะการก่อสร้างภายใน เป็นเสามีช่องทางเดินทะลุถึงกันแต่ละช่องมีขนาดเท่ากัน และเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดอย่างที่เห็นในภาพนี้เลยครับมองจากด้านหน้า จะทะลุไปจนถึงด้านหลัง มองจากด้านข้างด้านหนึ่งจะ ทะลุไปจนถึงอีกด้านหนึ่ง ช่องทางด้านหน้าและด้านหลัง ช่องทางเดินเข้าออกศาลาพระวิหารแดง คงไม่เรียกว่าประตูเพราะไม่มี ทั้งบานประตูและบานหน้าต่าง ด้านหลังเป็นทางไปบันไดนาคขึ้นยอดเขาตังกวนและพระเจดีย์หลวง ช่องด้านหน้าเป็นทางเดินลงไป เชิงเขาทางบันได


 ลานชมวิวเขาตังกวน

ภาพที่ 9 ลานชมวิวเขาตังกวน
จากยอดเขาตังกวนก็จะมองเห็นวิวของเมืองสงขลาได้แบบ 360 องศา มีที่นั่งให้นั่งชมวิว ลานชมวิวแห่งนี้มีรูปหลวงปู่ทวดอยู่กลางลาน บนฐานที่ยกสูงขึ้นไป ลานชมวิวหน้าพระเจดีย์หลวงจะมองเห็นตัวเมืองสงขลาได้กว้างไกลมากๆ ทั้ง วิวตัวเมืองและทะเลสาปสงขลา รวมทั้งหาดสมิหลา
 การเดินทางสู่เขาตังกวน
เขาตัวกวนตั้งอยู่ในตัวเมืองสงขลาใกล้กับหาดสมิหลา สามารถนั่งรถโดยสารแดง หรือรถตุ๊ก ตุ๊ก มอเตอร์ไซต์ ที่ให้บริการอยู่ใน ตัวเมือง
การขึ้นสู่ยอดเขาตังกวน ปัจจุบัน ทำได้  2  วิธี คือ
- ขึ้นลิฟส์โดยสารจากจุดบริการลิฟส์โดยสาย ณ บริเวนถนนตัดระหว่างเขาตังกวนและเขาน้อย ค่าบริการ ผู้ใหญ่คนละ 30 บาท เด็ก  20 บาท โดยเปิดบริการในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-19.00 น. และ ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
8.00-19.00 น.
-  ขึ้นโดยการเดินขึ้นบันไดฝั่งตรงตะวันตก ซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามลิฟส์โดยสาร ตลอดระยะทางมีบันไดหิน สลับกับจุดพักและจุดชมวิว เป็นช่วง ๆ ขอดีคือจะสามารถชมมุมมอง ได้หลายมุม หลายระดับ ณ บริเวณบันไดนาค ถึงวิหารแดงจำนวน  145 ขั้น

เก้าเส้ง

ภาพที่ 10 : หินนายแรง หรือ หินเก้าเส้ง
หาดเก้าเส้ง เป็นชายหาดอยู่ทางทิศใต้ของหาดชลาทัศน์ ห่างจากหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร มีชายหาดสีขาวนวล มีชุมชนชาวมุสลิมที่ยังคงหาปลาแบบดั้งเดิมโดยใช้เรือกอและ เรือที่มีสีสันหลากสีลวดลายวิจิตร จอดเรียงรายอยู่ริมหาดดูเป็นเอกลักษณ์ของหาดนี้ เมื่อมาถึงหาดจะพบแนวโขดหินใหญ่ มีก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนแนวโขดหินเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของหาดเก้าเส้ง เรียกว่า หินนายแรง หรือ หินเก้าเส้ง มีศาลเล็กๆตั้งอยู่ พร้อมกับเอาผ้าหลากสีพันเอาไว้ เปรียบเสมือนก้อนหินศักสิทธิ์ของหาดนี้ ตามตำนานกล่าวว่า เรียกว่า หินนายแรง หรือ หินเก้าเส้ง ซึ่งบนแนวชายหาดของจังหวัดสงขลาที่อยู่ถัดจากหาดชลาทัศน์ อยู่ห่างจากหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่ดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตัวหาดเป็นแนวเขาโขดหินใหญ่ เหนือแนวโขดหินนั้นมีหินศักสิทธิ์ก้อนใหญ่ตั้งเด่นอยู่ ได้แก่ หินนายแรง ซึ่งชาวบ้านต่างให้ความเคารพบูชาโดยการนำผ้าหลากสีมาพันไว้โดยรอบ ซึ่งในตำนานกล่าวไว้ว่า นายแรงซึ่งเป็นเจ้าเมืองของเมืองขึ้นแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งนั้นเมื่อในอดีตเมืองนครศรีธรรมราขกำหนดจัดงานฉลองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ เมืองขึ้นต่างๆจึงได้ขนเงินทองมาเพื่อบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงดูแลเป็นหนึ่งในเมืองขึ้นประกอบกับการที่นายแรงมีจิตใจเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงขนเงินจำนวนเก้าแสนมาในเรือสำเภาเพื่อหวังจะนำไปบรรจุในพระบรมธาตุ แต่ขณะเดินทางมีลมแรงทำให้เรือเกิดคลื่นลมซัดชำรุด นายแรงจึงหยุดซ่อมเรือที่หาดแห่งนี้ ครั้นเมื่อทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้ทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจเป็นอย่างมาก จึงสั่งให้ขนเงินทั้งหมดไว้บนเขาโขดหินนั้นและสั่งให้ตัดศีรษะตนวางไว้บนยอดโขดหิน ซึ่งคำว่าเก้าเส้งนั้นเพี้ยนมาจากเงินจำนวนเก้าแสนที่นายแรงขนมา ส่วนก้อนหินเด่นที่ตั้งอยู่บนยอดเขาโขดหินนั้นเรียกว่า หัวนายแรง ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีดวงวิญญาณนายแรงสิงสถิตเฝ้าทรัพย์ถึงทุกวันนี้

 ย่านเมืองเก่าสงขลา

ภาพที่ 11 ประตูเมืองสงขลา
ย่านเมืองเก่าสงขลา ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง มีถนนสายสำคัญน่าเดินเที่ยว สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และ ถนนนางงาม เป็นถนนที่ประกอบไปด้วยอาคารและสถาปัตยกรรมที่งดงาม เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชาวสงขลา ผ่านมุมมองทางสถาปัตยกรรม   เมื่ออดีตราว 200 ปีก่อน ตัวเมืองสงขลาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ เรียกว่า "เมืองสงขลา ฝั่งแหลมสน" จนกระทั่งพ.ศ. 2385 จึงขยายมาทางฝั่งทิศตะวันออกบริเวณตำบลบ่อยาง เรียกกันว่า "เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง" โดยเริ่มแรกมีถนนสองสายคือ ถนนนครนอก เป็นถนนเส้นนอกติดกับทะเลสาบ และถนนนครใน เป็นถนนเส้นในเมือง ต่อมามี การตัดถนนสายที่สามเรียกว่าถนนเก้าห้องหรือย่านเก้าห้อง เพื่องานสมโภชเสาหลักเมือง ต่อมาเรียกกันว่า ถนนนางงาม

 พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ หรือ บ้านของตระกูลติณสูลานนท์

ภาพที่ 12 พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ หรือ บ้านของตระกูลติณสูลานนท์
พิพิธภัณฑ์พธำมรงค์ (พะธำมะรง) ตั้งอยู่ที่ถนนจะนะใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบ้านพักเดิมของรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา
จากคำบอกเล่าความทรงจำในอดีตสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งพัสดีเรือนจำสงขลา "พะทำมะรง" เป็นตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีควบคู่กับตำแหน่งพัสดีปรากฎหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และอัยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมาตลอดจนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ตำแหน่งพะทำมะรงจึงได้ถูกยกเลิกไป
พิพิธภัณฑ์พธำมรงค์(พะธำมะรง) เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา จัดสร้างขึ้นโดยกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น ทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2530 บนพื้นที่ 143.5 ตารางวา งบประมาณ 736,039.26 บาท เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2532 โดยนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงตำแหน่ง "พระทำมะรง" (เดิมใช้คำว่า "พธำมะรงค์") อันเป็นตำแหน่งเก่าแก่ของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในขณะเดียวกันก็เป็นการเชิดชูวงศ์ตระกูล "ติณสูลานนท์" ที่ครั้งหนึ่งรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านได้เคยดำรงตำแหน่งพะทำมะรงพิเศษเมืองสงขลา (พ.ศ.2457) จนกระทั่งได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2497 ตำแหน่งพะทำมะรงจึงได้ถูกยกเลิกไป
พิพิธภัณฑ์พธำมรงค์(พะธำมะรง) จังหวัดสงขลา เป็นพิพิธภัณฑสถานที่จำลองรูปแบบบ้านพักเดิมของรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรมในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งพะทำมะรงพิเศษเมืองสงขลาจากความทรงจำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไม้ยกพื้นชั้นเดียวหลังคาทรงปั้นหยาสองหลังคู่มีชานเปิดโล่งเชื่อมถึงกัน ภายในมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของครอบครัวติณสูลานนท์ในอดีตและประวัติสกุลวงศ์ ปัจจุบัน เทศบาลนครสงขลาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลและพัฒนาให้เป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว 

 ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา

ภาพที่ 13 ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา
ศาลหลักเมืองสงขลา..ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา...สิ่งศักดิ์สิทธ์..สถานที่ที่รวมจิตใจคนสงขลา..จุดเริ่มต้นของเมืองสงขลาบ่อยาง..ประวัติศาสตร์เมืองสงขลาบ่อยาง เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกอบพิธีวางเสาหลักเมืองเมื่องวันที่ 10 มีนาคม 2385 โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเทียนชัยและไม้ชัยพฤกษ์ให้แก่พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) และให้สมเด็จพระอุดมปิฎกเป็นประธานฝ่ายสงฆ์พร้อมด้วยพระราชครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เป็นประธานฝ่ายพราหมณ์ร่วมกันประกอบพิธีวางเสาหลักเมืองสงขลา ดังปรากฎหลักฐานในประชุมพงศาวดาร ไว้ว่า..
   "ครั้นปีขาล จัตวาศก ศักราช ๑๒๐๔ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการฝังหลักชัยเมืองสงขลา พระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักชัยต้นหนึ่ง กับเทียนชัย ๑ เล่ม พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่างๆ และโปรดเกล้าให้สมเด็จพระอุดมปิฎกเป็นประธานสงฆ์ฐานานุกรมเปรียญ ๘ รูป ออกมาเป็นประธาน กับพระราชครูอัษฎาจารย์พราหมณ์กับพราหมณ์ ๘ นาย ออกมาเป็นประธานในการฝังหลักชัย พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ได้กะเกณฑ์กรมการและไพรจัดการทำเป็นโรงพิธีใหญ่ขึ้นในกลางเมือง คือที่หน้าศาลเจ้าหลักเมืองเดี๋ยวนี้ และตั้งโรงพิธี ๔ ทิศ คือ ที่ป้อมเสร็จแล้ว"
   ก่อนวางเสาหลักเมือง 3 วัน พระยาวิเชียรคีรี(เถี้ยนเส้ง) ได้จัดกระบวนแห่เทียนชัยและไม้ชัยพฤกษ์รอบเมือง โดยชาวเมืองสงขลาทั้งไทยและจีน ร่วมขบวนแห่อย่างสนุกสนานและหลังจากวางเสาหลักเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เถี้ยนเส้ง) ได้จัดงานสมโภชหลักเมืองอีก 5 วัน 5 คืน และต่อมาได้สร้างอาคารทรงจีน 3 หลัง ครอบเสาหลักเมืองไว้ ดังปรากฎหลักฐานในประชุมพงศาวดารว่า
   "ครั้งเดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก [วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2385] พระยาสงขลา (เถิ้ยนเส้ง๗ ให้จัดการตั้งขบวบแห่หลักไม้ชัยพฤกษ์กับเทียนชัยเป็นการใหญ่ คือ จัดกระบวนแห่ทั้งพวกจีนและพวกไทยเป็นที่ครึกครื้นเอิกเกริกมาก ตั้งกระบวนแห่หลักไม้ชัยพฤกษ์กับเทียนชัยไปเข้าโรงพิธี แล้วพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเจริญพระปริต พระครูพรมณ์ก็สวดตามไสยเวท"
   "ครั้น ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ (วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2385) เวลาเช้าโมง ๑ กับ ๑๐ นาที ได้ฤกษ์ พระยาสงขลา (เถิ้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงผั่งไว้ที่กลางเมืองสงขลา มีปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้จัดการสมโภชหลักเมือง้ป็นการเอิกเกริกอีก ๕ วัน ๕ คืน คือ ละครหรือโขนร้อง ๑ โรง หุ่น ๑ โรง งิ้ว ๑ โรง ละครชาตรี ๑ โรง และพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ ๒๒ รูปกับเครื่องบริขารภัณฑ์ต่าง ๆ แก่พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญและพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เป็นอันมาก ครั้นเสร็จการฝั่งหลักเมือง พระยาสงขลา เถี้ยนเส้ง) ได้ให้ช่างก่อตึกคร่อมหลักเมืองไว้ ๓ หลัง เป็นตึกจีนกับศาลเจ้าเสื้อเมืองไว้หลังหนึ่งด้วย"
   "จากหลักฐานในการประชุมพงศาวดารแสดงให้เห็นว่า การวางเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2385 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างเมืองสงขลาบ่อยาง โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชเทียนชัยและไม้ชัยพฤกษ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เมืองสงขลา สะท้อนความสำคัญของเมืองสงขลาในฐานะเมืองใหญ่ทางภาคใต้ นอกจากนี้ ประชาชนในเมืองสงขลาทั้งไทยและจีนต่างร่วมกันเฉลิมฉลองการตั้งเมืองใหม่อย่างเอิกเกริกปัจจุบันศาลหลักเมืองตั้งอยู่บนถนนนางงาม เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของศาลหลักเมืองจะพบว่าศาลหลักเมืองสงขลาตั้งอยู่ตรงกลางเมืองบ่อยางอย่างพอดี
    นอกจากนี้..ตามความเชื่อของชาวสงขลาเชื้อสายจีน ได้มีการอัญเชิญองค์เทพศักดิ์สิทธ์ ช่วยปกปักษ์รักษาเมือง..เป็นองค์เจ้าพ่อหลักเมือง มีชื่อว่า " เซ่งห๋องเหล่าเอี๋ย" มาประดิษฐานไว้ตั้งอยู่ด้านหลังของหลักเมือง โดยจะมีงานสมโภชประจำปี ในช่วง วันแรม ค่ำเดือน ของทุกปี

 วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง)

ภาพที่ 14 วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง)
วัดมัชฌิมาวาส เดิมชื่อ วัดเลียบ วัดกลาง วัดยายศรีจันทร์อยู่ที่ถนนไทรบุรี อำเภอเมือง เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา เมื่อ 400 ปีมาแล้ว ยายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลา ได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมาประชาชนพากันเรียกว่า "วัดกลาง" มีผู้สร้างวัดในจังหวัดสงขลาขึ้นทางทิศเหนือวัดหนึ่ง ชื่อ วัดเลียบ และ ทิศใต้สร้างอีกวัดหนึ่ง ชื่อ วัดโพธิ์ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า วัดกลาง พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เสด็จเมืองสงขลา ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นภาษาบาลีว่า วัดมัชฌิมาวาส ในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถ สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดงที่มีการค้าขายกันคึกคัก ซุ้มประตู เป็นศิลปะจีนกับยุโรป และมีพิพิธภัณฑ์ "ภัทรศิลป" เป็นที่เก็บพระพุทธรูป วัตถุโบราณ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคารและวันหยุดราชการ เวลา 13.00 - 16.00 น.
ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ    ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกลาเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ได้บูรณะและสร้างพระอุโบสถหลังปัจจุบันพร้อมด้วยศาลาการเปรียญ หอไตร ศาลาฤาษี และกำแพงวัด
-  พระอุโบสถ  เป็นอาคารทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์โดยย่อส่วน และปรับปรุงจากแบบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่จากกรุงเทพ ฯ ร่วมกับช่างเมืองสงขลา ส่วนประกอบของช่อฟ้ามีแต่ตัวลำยองไม่มีนาคสะดุ้ง เสารองพระอุโบสถเป็นสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม ประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มมงกุฎ หน้าบันทั้งภายนอกและภายในเป็นประติมากรรมปูนปั้น นูนสูงปิดทองและติดกระจก หน้าบันด้านทิศตะวันออก เป็นรูปปั้นพระพรหมสี่หน้าทรงหงส์ ล้อมด้วยกนกลายไทย ด้านทิศตะวันตกเป็นรูปปั้นพระอินทรทรงช้างเอราวัณ อยู่ในวงล้อมที่เป็นกนกลายไทย   ที่หน้าบันด้านในทิศตะวันออก มีรูปปั้นราหูอมจันทร์หน้าตรง ที่หน้าบันด้านในทิศตะวันตกมีรูปปั้นราหูอมจันทร์หน้าเอียง
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหินอ่อนปางสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๕๕ เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกพุทธลักษณะแบบไทยผสมจีน กล่าวคือฝีมือปั้นหุ่นเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นแล้วนำไปแกะสลักหินอ่อนที่ประเทศจีน
ภายนอกพระอุโบสถ ระหว่างช่องเสาโดยรอบกำแพง มีภาพจำหลักหินเรื่องสามก๊ก เป็นฝีมือช่างจีน ที่เสาประตูกำแพงแก้วพระอุโบสถทั้งสี่ประตู มีศิลาจารึกอักษรจีน มีข้อความต่อเนื่องกันภายในพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน เป็นภาพเขียนสีฝุ่นบนผนังปูน เป็นงานฝีมือช่างหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และเทพชุมนุม ประกอบด้วยเทพในชั้นจตุมหาราชิก ยักษ์และครุฑ ต่ำลงมาเป็นภาพปฐมสมโพธิ แบ่งเรื่องโดยใช้เส้นสีเทา เส้นแบ่งภาพเป็นรูปหยักฟันปลา เพื่อแบ่งส่วนที่เป็นโลกสวรรค์ และโลกมนุษย์เริ่มจากเทพยดา ในหมื่นจักรวาลมาชุมนุมกันในสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่ออัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์ ให้มาปฏิสนธิในโลกมนุษย์  ภาพนี้เด่นกว่าภาพทั้งหลาย  เป็นภาพพระโพธิสัตว์ประทับในปราสาท มีกำแพงแก้วชั้นในล้อมอยู่ด้านนอก เทพยดาทั้งหลายนั่งพนมมือ  เหนือขึ้นไปเป็นหมู่เมฆ มีปราสาทอยู่ไกล ๆ เหล่าเทพยดาเรียงรายกันอยู่  ถัดมาเป็นภาพพระเจ้าสุทโทธนะทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญ ต่อมาเป็นภาพประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ทั้งหมดเป็นภาพพุทธประวัติที่ต่อเนื่องกันไป มีการสอดแทรกภาพชีวิตของชาวบ้านที่ถอดแบบจากคนในท้องถิ่นเอาไว้ด้วย  ด้านหน้าของภาพปราสาทส่วนล่างเป็นริมฝั่งน้ำยาวเหยียดเป็นแม่น้ำอโนมา เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเกศา ณ ริมฝั่งแม่น้ำนี้  พระอินทร์เอาผอบมารองรับพระเกศา แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามริมฝั่งแม่น้ำแสดงชุมชนชาวบ้าน
ภาพเจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียรจนพระวรกายผ่ายผอม แล้วมีภาพพระอินทร์เสด็จมาดีดซอสามสาย จากนั้นเป็นภาพพระพุทธองค์ทรงบาตร ณ กรุงราชคฤห์  รับมธุปายาสแล้วทรงลอยถาดจนล่วงรู้ไปถึงพญานาคในเมืองบาดาล
ตามผนังด้านหน้าพระอุโบสถเป็นภาพมารผจญ  ด้านล่างที่ประทับมีแม่ธรณีบีบมวยผม ทำให้น้ำท่วมเหล่ามารทั้งหลาย
ต่อไปเป็นภาพปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์  ต่อมาทรงแสดงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร  โปรดพระราชบิดา และพระนางพิมพา  ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทรงทรมานพญามหาชมพู  แล้วเป็นภาพเสด็จขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรดพุทธมารดา แล้วเสด็จไปโปรดสัตว์นรก จากนั้นเป็นภาพกระทำภัตกิจในเรือนนายจุน แล้วเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานที่กรุงกุสินารา ภาพสุดท้ายเป็นภาพโทณพราหมณ์แบ่งพระธาตุ และพระอินทร์อัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ด้านขวาไปไว้ในเจดีย์จุฬามณี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ชั้นล่างสุดติดกับช่องหน้าต่าง แบ่งเป็นห้อง ๆ รวม ๑๘ ห้อง เป็นเรื่องทศชาติตามลำดับคือพระเตมีย์ พระชนก พระสุวรรณสาม  พระเนมิราช  พระมโหสถ  พระภูริทัต  พระจันทกุมาร  พระนารถ  พระวิทูร และพระเวสสันดร
  
 บ้านนครใน
ภาพที่ 15 : บ้านนครใน
บ้านนครใน บ้านเก่าแก่ โบราณกว่าร้อยปี..ตั้งอยู่ที่ 121 ถนนนครใน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา..โดย ห้างทองหยงเตียน.. คุณกระจ่าง  จารุพฤกษ์พันธ์ สร้างขึ้นเพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ท่านนำเอาบ้านเก่าแก่ แบบจีนโบราณ ที่ชำรุดทรุดโทรม..มาซ่อมแซม บูรณะขึ้นมาใหม่พร้อมทั้งสร้างอาคารสูง5 ชั้น แบบ ชิโนยูโรเปียน..ขึ้นมาใหม่เพื่อจัดแสดงวัตถุโบราณ และสิ่งของสะสมของท่านให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชมทุกวัน สามารถถ่ายภาพได้อย่างใกล้ชิด..โดยมีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมเล็กน้อย..หรือบริจาคสบทบทุนค่าใช้จ่ายในการดูและบ้านตามอัธยาศัย

 โรงสีแดง "หับ โห้ หิ้น"
ภาพที่ 16 :  โรงสีแดง "หับ โห้ หิ้น"
"หับ โห้หิ้น" คือโรงสีข้าวเก่าแก่ในตัวอาคารสีแดงแรงฤทธิ์ ที่ยังคงความขลังอย่างคลาสสิกบนถนนนครนอก แต่ทำไมต้องชื่อ หับ โห้หิ้น ชื่อนี้หมายความว่าอย่างไร ตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสงขลา เศรษฐกิจของสงขลาในระยะนั้น ขับเคลื่อนโดยกลุ่มพ่อค้าเชื้อสายจีนหลายตระกูล เช่น ณ สงขลา รัตรสาร รัตนปราการ โคนันทน์ เงารังษี และ เลขะกุล เป็นต้น ได้ทำธุรกิจค้าขายกับเกาะปีนัง รวมทั้งมีกิจการโรงสี เพื่อรองรับผลผลิตข้าวจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอันอุดมสมบูรณ์ และเนื้อหาข้างต้นได้ระบุไว้ในวิทยานิพนธ์ของ ดร.ศรีสุพร ช่วงสกุล
จากต้นตระกูลเสาวพฤกษ์ หรือที่มาจากขุนราชกิจจารี ได้ร่วมหุ้นกับตระกูลโคนันทน์ จัดตั้ง "หับ โห้หิ้น" ขึ้นราวปี พ.ศ. 2454 แต่หลังจากนั้นอีก 14 ปี หลานของท่านขุนราชกิจจารี ได้ซื้อกิจการทั้งหมด และพัฒนาโรงสีข้าว โดยการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์พลังไอน้ำ คือการใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดไอน้ำไปสีข้าว ซึ่งได้สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ จากหัวคิดที่ไม่เหมือนใครจึงทำให้กิจการดำเนินไปด้วยดี ท่านผู้นี้ก็คือ นายสุชาติ รัตนปราการ หนุ่มนักเรียนปีนัง


สำหรับต้นตระกูล "รัตนปราการ"เป็นคนจีนฮกเกี้ยน หรือใช้ "แซ่ก๊วย" จากมณฑลฮกเกี้ยน และได้อพยพมาตั้งรกรากที่สงขลา ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2250 ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนคำว่า "ก๊วย" แปลว่า กำแพงเมือง จึงเป็นที่มาของนามสกุล "รัตนปราการ" ซึ่งแปลว่า "กำแพงแก้ว" ส่วนชื่อโรงสี "หับ โห้หิ้น" เป็นภาษาฮกเกี้ยนเช่นกัน มีผู้แปลความว่าหมายถึง เอกภาพ ความกลมกลืน และความเจริญรุ่งเรือง สอดคล้องกับความเห็นของ อาจารย์สุขสันต์ วิเวกเมธากร ผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษา เจ้าของนามปากกา "เล่าชวนหัว" และเจ้าของโรงเรียนสอนภาษาจีน "สุขสันต์วิทยา" ที่ว่า "หับ" ในภาษาจีนฮกเกี้ยน น่าจะตรงกับคำว่า "ฮะ" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่แปลว่า ความสามัคคี สมานฉันท์ ส่วน "โห้" น่าจะตรงกับ "ฮ่อ" หมายถึง ความดี ความเจริญรุ่งเรือง แต่ "หิ้น" อาจจะเป็นคำนาม หมายถึง สวน หรือที่ที่มีคนมาชุมนุมกัน รวมความแล้ว "หับ โห้หิ้น" ในทัศนะอาจารย์สุขสันต์ ควรจะแปลว่า "สวนสมานฉันท์อันเจริญรุ่งเรือง"
นายสุชาติ รัตนปราการ ดำเนินกิจการโรงสี หับ โห้หิ้น จนเจริญรุ่งเรืองสมชื่อ โดยรับข้าวเปลือกจากย่านระโนด หัวไทร และพัทลุง บรรทุกลงเรือเอี้ยมจุ๊น ใช้ใบล่องทะเลสาบสงขลามาเทียบท่าเรือด้านหลังของโรงสี มีคนงานเชื้อสายจีนราว 10 คน เปิดเครื่องสีข้าวทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันเป็นเดือนๆ ข้าวที่สีเสร็จจะส่งไปขายนราธิวาส เลยไปถึงมาเลเซีย แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ก็เลิกกิจการไป ดังนั้น "หับ โห้หิ้น" โรงสีแดงแห่งถนนนครนอก จึงกลายเป็นตำนานในความทรงจำของชาวสงขลา

       Street Art ย่านเมืองเก่าสงขลา

ภาพที่ 17 : Street Art ย่านเมืองเก่าสงขลา
ตามผนังต่างๆ ในย่านยังเต็มไปด้วยงานศิลปะและภาพสตรีทอาร์ตฝีมือคนรุ่นใหม่ เหมาะกับการไปเดินเที่ยว ถ่ายภาพกันเพลินๆ มีสตรีตอาร์ตทั้งหมด 15 จุด ให้เราตามหา เช่น อาแปะเปิดประตู ยื่นหมวกกันน็อกภาพเด็ก 3 เชื้อชาติ ไทย มุสลิม และจีน ซึ่งเป็นตัวแทนเคน 3 เชื้อชาติที่มาอยู่ร่วมกันที่นี่ภาพเรือสำเภาภาพร้านบะหมี่ (หมี่เปี่ยก)ภาพการทำข้าวเกรียบภาพการทำบูดูภาพหมา แมว หนูภาพกำแพงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นต้น แม้วันนี้ภาพเหล่านี้จะแทบไม่มีให้เห็นแล้ว แต่เมื่อปรากฎอยู่บนกำแพงให้คนรุ่นเก่าที่ยังทันเห็นได้บอกเล่ากับคนรุ่นใหม่ ก็เหมือนกับทำให้ภาพเหล่านี้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง
งานนี้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” แม้ต้นความคิดมาจากสตรีตอาร์ตในรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย แต่ก็พยายามนำเสนอวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนสงขลา และให้ศิลปินท้องถิ่นเป็นผู้สร้างสรรงาน


แหล่งที่มา :  http://blog.reviewthailand.net/2016/01/




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สถานที่ท่องเที่ยวเมืองสองเล

สถานที่ท่องเที่ยวเมืองสงขลา เมืองสงขลาเป็นเมืองที่มีเสน่ห์มากๆ อย่างแรกเลยคือเป็น เมืองสองทะเล เพราะมีภูมิประเทศที่ถูกขนาบข้างด้วยทะเลทั้...